เครื่องจักรเสียงดัง อันตรายแค่ไหน ป้องกันอย่างไร
เสียงดัง ถือเป็นอันตรายใกล้ตัวที่หลายๆ คนมักจะมองข้ามไป โดยเฉพาะคนที่ทำงานโรงงาน หรือทำงานอุตสาหกรรมที่ต้องได้ยินเสียงเครื่องจักรอยู่ตลอดเวลา มักจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มลพิษทางเสียงนับเป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะหูนั้นมีความสำคัญพอๆ กับดวงตา เนื่องจากเราต้องใช้หูในการรับฟังเสียงเพื่อที่จะสื่อสารกับคนอื่นๆ หากเกิดเราอยู่ในที่ๆ มีมลพิษทางเสียงเป็นเวลานานจนทำให้เกิดปัญหากับการได้ยิน จะทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตของเราลดลงเป็นอย่างมาก แล้วเสียงดังแค่ไหนถึงเรียกว่าอันตราย และจะสามารถป้องกันได้อย่างไร
มลพิษทางเสียง อาจทำให้คุณพิการได้จริงหรือไม่
มลพิษทางเสียง คือ การที่เราได้ยินเสียงที่ดังเกินไป และระดับความดังมากกว่าที่หูของเราจะรับไหว เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อประสาทหูนั่นเอง ซึ่งปกติแล้วมลพิษทางเสียงนั้นจะเกิดกับคนที่ทำงานอยู่ในโรงงาน หรือใกล้เครื่องจักรอุตสาหกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังมาก อย่างเช่น โรงงานทอผ้า โรงงานปั๊มโลหะ หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านจราจรคับคั่ง โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้สนามบินมากๆ ความดังของเสียงที่ดังและนานเกินไป จะเข้าไปทำให้อวัยวะรับเสียง โดยเฉพาะเซลล์ขนและประสาทรับเสียงเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ทำให้เราไม่สามารถได้ยินเสียงทั่วไปในสภาวะระดับปกติ หรือที่เรียกกันว่า ‘หูตึง’ นั่นเอง อีกทั้งถ้าเรายังคงฝืนตัวเองอยู่ในที่ที่มีมลพิษทางเสียง หรือในที่ทำงานเสียงดังอยู่ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง ก็จะทำให้เกิดปัญหา หูหนวกตามมาได้เลย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก จะทำให้เราไม่สามารถได้ยินและติดต่อพูดคุยกับคนอื่นๆ ได้ตามปกติ ทำให้ดำรงชีวิตได้อย่างยากลำบากมากขึ้น กลายเป็นคนพิการที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้ และส่งผลร้ายต่อร่างกายในส่วนอื่นๆ เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากเสียงดังจะเข้าไปทำให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ซึ่งอาจนำไปสู่สาเหตุของการเกิดปัญหาความเครียด และสะสมนานทำให้ส่งผลถึงระบบประสาทได้เช่นกัน
ต้องเสียงดังแค่ไหน ถึงจะกลายเป็นมลพิษทางเสียง และทำให้เกิดอันตรายได้?
สำหรับใครที่สงสัยว่าต้องเสียงดังแค่ไหนถึงจะกลายเป็นมลพิษทางเสียงอยู่ละก็ ตอนนี้โลกเราได้มีการกำหนดมาตรฐานสากลขึ้นแล้ว โดยกำหนดให้ความดังของเสียงนั้นต้องไม่เกิน 85 เดซิเบล สำหรับคนที่ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 90 เดซิเบล ถ้าหากทำงาน 4 ชั่วโมงต่อวัน โดยประเทศไทยเราเองก็มีกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานกับสภาพแวดล้อม กำหนดให้ระดับความดังของเสียงที่พนักงานควรได้รับติดต่อกัน ต้องไม่เกิน 90 เดซิเบล สำหรับคนทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และสำหรับคนทำงานวันละ 8 ชั่วโมงขึ้นไป ต้องไม่เกิน 80 เดซิเบล ซึ่งคนที่ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษทางเสียงแบบนี้ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินสูง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงเอาไว้ตลอดเวลา และในบางอุตสาหกรรมการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันนั้นอาจจะไม่เพียงพอ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างห้องเก็บเสียงเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับหูและร่างกายในระยะยาวได้
ความดังของเสียงระดับไหน ที่เริ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายและมลพิษทางเสียง? การคาดคะเนความดังในระดับเกณฑ์ที่เป็นอันตรายนั้น สามารถทำได้โดยการสังเกตและเปรียบเทียบกับเสียงต่างๆ เหล่านี้
เสียงกระซิบ 30 เดซิเบล
เสียงพิมพ์ดีด 50 เดซิเบล
เสียงคุยทั่วไป 60 เดซิเบล
เสียงรถวิ่ง 80 เดซิเบล
เสียงขุดเจาะถนน 100 เดซิเบล
เสียงค้อนทุบ 120 เดซิเบล
เสียงเครื่องบินขึ้น 140 เดซิเบล
ป้องกันอันตรายจากมลพิษทางเสียงได้ด้วยวิธีไหนบ้าง? สร้างโครงสร้างที่ป้องกันเสียงและใช้วัสดุที่สามารถลดเสียงได้ อีกทั้งการบำรุงรักษาเครื่องจักรให้เกิดเสียงน้อยที่สุดก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ลดความเสี่ยงในเรื่องของระดับเสียงไปได้ วิธีการทำห้องเก็บเสียงสำหรับเครื่องจักรที่มีเสียงดัง ผนังและฝ้าต้องป้องกันเสียงทะลุเข้า-ออกได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยต้องมีค่า STC 35-60 dB หากเครื่องจักรมีเสียงแหลมสูง สามารถเลือกใช้ผนังและฝ้าที่มีค่า STC 35-45 ก็เพียงพอ หากเครื่องจักรมีเสียงแหลมสูง และเสียงกลางทุ้ม ควรเลือใช้ผนังและฝ้าที่มีค่า STC 45 ขึ้นไป ภายในห้องจะต้องมีรอยรั่วอากาศน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เพื่อไม่ให้เสียงลอดผ่านออกไปได้ ส่วนประตูควรเลือกใช้ประตู 2 ชั้น เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงสูงสุด อย่างน้อยห้องควรต้องยาว 1.5-2 เมตร และที่สำคัญควรมีการวัดค่าเสียงก่อนการสร้างห้องเก็บเสียง เพื่อวัดผลว่าระดับความดังของเสียงเป็นไปตามค่ามาตรฐานแล้วหรือยัง ซึ่งสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงเฉพาะทาง ที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด และบริหารงบประมาณของคุณให้เหมาะสมนั้นเอง
Data : www.officemate.co.th
[…] Noisy machinery เครื่องจักรเสียงดังแก้ปัญหาไ… […]