Hearing loss แก้ปัญหาเครื่องจักรเสียงดัง ก่อนสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร

การสูญเสียการได้ยินนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับการดำรงชีวิตแล้ว ยังมีรายงานทางการแพทย์ล่าสุดที่ออกมาระบุว่า ผู้ที่สูญเสียการได้ยินมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าผู้ที่ได้ยินเป็นปกติ การทำงานกับเครื่องจักรเสียงดังเป็นเวลานาน และการได้ยินเสียงดังรบกวนการใช้ชีวิตตลอดเวลา การอยู่ในสภาพแวดล้อมเสียงดังรบกวนแสดงว่าคุณอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะสูญเสียการได้ยิน โดยเฉพาะการทำงานกับเครื่องจักรที่เสียงดังตลอด 8 ชั่วโมง เสียงดังส่งผลเสียมากกว่าที่คุณคิด ดังแค่ไหนถึงอันตราย ส่งผลอย่างไรบ้าง แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ทุกคำถามเรามีคำตอบพร้อมช่วยคุณแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน มาติดตามกัน Hearing loss แก้ปัญหาเครื่องจักรเสียงดัง ก่อนสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร

การสูญเสียการได้ยิน อันตรายใกล้ตัวที่คุณต้องรู้

รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่าคนงานที่ทำงานสัมผัสเสียงดังมากกว่า 85 dBA ใน 8 ชั่วโมงการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6-12 เดือน จะเริ่มปรากฎอาการของการสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดังอย่างชัดเจน จากสถิติในต่างประเทศเมื่อคนเรามีอายุประมาณ 65-70 ปีขึ้นไปจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 สำหรับผู้ที่ทำงานและได้รับเสียงดังอย่างต่อเนื่อง โดยปีแรก ๆ อาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งผ่านไป 2-30 ปี จึงจะเริ่มสังเกตอาการได้ และเสียงที่ดังเกินกว่า 130 dBA จะทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดและอวัยวะในหูอื่น ๆ เสียหาย ภาวะการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางเสียงมักเกิดจากการประกอบอาชีพที่มีการสัมผัสระดับเสียงจากอุตสาหกรรมหนักหรือมีสิ่งแวดล้อมในพื้นที่การทำงานที่มีระดับเสียงดังมาก ๆ และมีการสัมผัสเสียงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน อาการของการสูญเสียการได้ยินก็คือสมรรถภาพการรับรู้เสียงจะค่อย ๆ เสื่อมลง โดยจะเห็นได้ชัดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงซึ่งจะเกิดขึ้นกับหูทั้งสองข้างและจะมีอาการเพิ่มขึ้นทุกปี ผลกระทบของภาวะการสูญเสียการได้ยินที่เห็นได้ชัดเจนคืออุปกสรรคและความยากลำบากในการสื่อสาร จึงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับโรคในช่องหูและไม่อยู่ในที่เสียงดังหรือสัมผัสเสียงที่อาจทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้

  • การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว การสูญเสียการได้ยินหรือการเสื่อมของประสาทหูจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยการสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราวเป็นอาการเสื่อมการได้ยินที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานาน ๆ หรือได้รับเสียงดังที่สม่ำเสมอและมีความเข้มเสียงสูงถึงขีดอันตรายอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เซลล์ประสาทหูมีอาการล้าจนไม่สามารถประมวลผลสัญญาณการสั่นสะเทือนเป็นคลื่นประสาทได้ เกิดภาวะหูตึงชั่วคราว (Auditory fatigue) ซึ่งอาการผิดปกตินี้สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้หลังจากหยุดสัมผัสเสียงภายใน 1-2 วัน
  • การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับสัมผัสเสียงดังติดต่อกันอีกเป็นระยะเวลานานภายหลังจากมีอาการสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราวจนทำให้ประสาทหูถูกทำลาย และเกิดการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรแม้จะหยุดรับการสัมผัสเสียงไปแล้วก็ตาม และไม่สามารถกลับคืนสภาพปกติหรือรักษาให้หายได้ โดยในระยะแรกการสูญเสียการได้ยินจะเริ่มเสียที่ช่วงความถี่เสียง3,000-6,000 Hz และที่พบส่วนใหญ่จะสูญเสียการได้ยินมากที่สุดในความถี่ 4,000 Hz และขยายออกไปที่ช่วงความถี่ของการสนทนาคือ 500-2,000 Hz ทำให้ไม่สามารถรับฟังเสียงพูดได้อย่างชัดเจน
ภาพประกอบ :freepik

การสูญเสียการได้ยินกับการเกิดโรคสมองเสื่อม

ความสัมพันธ์ระหว่างการสูญเสียการได้ยินกับการเกิดโรคสมองเสื่อมนี้ได้รับความสนใจจากนักวิจัยหลายทีมทั่วโลก เช่น งานวิจัยเรื่อง Association of hearing loss with dementia โดยคณะนักวิจัยจากไต้หวันที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวไต้หวันอายุเฉลี่ย 65 ปีจำนวน 16,270 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กันคือกลุ่มละ 8,135 คน กลุ่มหนี่งเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสูญเสียการได้ยิน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งการได้ยินเป็นปกติ โดยที่แต่ละกลุ่มยังแยกออกเป็นช่วงอายุ 45-64 ปี 65-74 ปี และมากกว่า 75 ปีขึ้นไปจากการติดตามกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้เป็นเวลา 13 ปี พบผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม 1,868 ราย ในจำนวนนี้มาจากกลุ่มผู้สูญเสียการได้ยินประมาณร้อยละ 59 หรือ 1,094 คน และมาจากกลุ่มที่ได้ยินเป็นปกติ 774 คน หรือประมาณร้อยละ 41 นักวิจัยสรุปว่า การสูญเสียการได้ยินมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี ซึ่งการปกป้องการได้ยิน การตรวจคัดกรองและรักษาการสูญเสียการได้ยินเป็นแนวทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมได้เช่นเดียวกับงานวิจัยโดยทีมนักวิจัยชาวเกาหลีที่เก็บข้อมูลนาน 11 ปี ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีภาวะหูตึงอย่างรุนแรง 4,432 คน และผู้ที่มีภาวะหูหนวกอีก 958 คนเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีความผิดปกติทางการได้ยิน ซึ่งผลที่ออกมา คือ ภาวะหูตึงอย่างรุนแรงและหูหนวกสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อมทั้งในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ

ทำไมสูญเสียการได้ยินแล้วจึงสมองเสื่อม

เรื่องนี้ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน แต่นักวิจัยเชื่อว่าอาจมี 3 ปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือ

  • ผู้ที่สูญเสียการได้ยินมักรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งความรู้สึกนี้เชื่อมโยงกับการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ตามที่เคยมีการวิจัยมาก่อนหน้านี้
  • สมองต้องทำงานหนักขึ้นในการพยายามที่จะฟัง ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานสมองที่จะนำไปใช้กับกิจกรรมสำคัญอื่น ๆ
  • เมื่อได้ยินเสียงน้อยลง ประสาทรับรู้การได้ยินก็จะส่งสัญญาณไปยังสมองลดน้อยลงและอาจส่งสัญญาณผิดพลาด สมองจึงทำงานน้อยลง  การที่สมองทำงานลดลงหรือเสื่อมถอยลง ก็จะทำให้สมองเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ

แก้ไขปัญหาเครื่องจักรเสียงดัง ลดปัญหาเสียงดังรบกวนขณะทำงาน

ควบคุมแหล่งกำเนิดเสียง เลี่ยงเสียงดังอันตราย เป็นการควบคุมปริมาณเสียงจากตัวแหล่งกำเนิดเสียงเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เครื่องมือรุ่นที่ออกแบบมาเป็นพิเศษซึ่งทำงานได้โดยไม่ส่งเสียงดังเกินมาตรฐาน การออกแบบเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยลดเสียง รวมถึง ตรวจสอบกระบวนการผลิตอย่างละเอียด ว่ามีขั้นตอนใดที่ก่อให้เกิดเสียงดังบ้าง เผื่อจะได้ทำการแก้ไขหรือหาวิธีการอื่นทดแทนในขั้นตอนการผลิตนั้น  ๆ เพื่อให้เสียงลดลง นอกเหนือจากตัวเครื่องจักรและกระบวนการผลิตแล้ว การสร้างห้องเก็บเสียงในโรงงานให้ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยลดเสียงที่ลอดออกจากห้องเครื่องจักร รวมถึงติดตั้งวัสดุซับเสียงที่ผนังภายในของห้อง นอกจากนี้ควรตรวจสอบตำแหน่งของเครื่องจักรให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่มั่นคงและตรวจสอบอุปกรณ์รองฐานเครื่องเพื่อป้องกันการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร เช่น สปริง หรือยางรอง เป็นต้น หากเครื่องจักรไม่ได้ตั้งอยู่บนอุปกรณ์ป้องกันการสั่นสะเทือนที่เหมาะสมแล้ว แรงสั่นสะเทือนจากการทำงานจะยิ่งส่งผลให้เกิดเสียงดังมากขึ้น และยังเป็นอันตรายต่อบุคลากรรวมถึงบุคคลในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย การบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ คอยหยอดน้ำมันหล่อลื่นให้ไม่ฝืด เพื่อลดเสียงรบกวนจากการเสียดสีของเครื่องจักร รวมไปถึงเลือกใช้วัสดุที่ได้คุณภาพมาตรฐานในการสร้างห้องเก็บเสียงในโรงงาน

นายจ้างควรให้ความสำคัญกับปัญหาเครื่องจักรเสียงดังเดินมาตรฐาน

กรมแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย จึงได้กำหนดมาตรฐานของระดับเสียงในสถานประกอบการต่างๆ เอาไว้ เพื่อเป็นการคุ้มครองลูกจ้าง โดยมีสาระสำคัญที่เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายต้องทราบ ดังต่อไปนี้

  • ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ลูกจ้างต้องทำงานในจุดกำเนิดเสียงติดต่อกันเป็นเวลา ไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง ระดับเสียงในจุดกำเนิดต้องได้รับการควบคุมไม่ให้เกิน 91 เดซิเบล
  • ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ลูกจ้างต้องทำงานในจุดกำเนิดเสียงติดต่อกันเป็นเวลา 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ระดับเสียงในจุดกำเนิดต้องไม่เกิน 90 เดซิเบล
  • หากลูกจ้างต้องทำงานในจุดกำเนิดเสียงติดต่อกันเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ 8 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป ระดับเสียงในจุดกำเนิดเสียงต้องได้รับการควบคุมให้ไม่เกิน 80 เดซิเบล
  • ห้ามลูกจ้างทำงานภายในบริเวณจุดกำเนิดเสียงที่มีระดับความดังของเสียง เกิน 140 เดซิเบลเด็ดขาด โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่จัดการ กำกับ และดูแลควบคุมระดับของเสียงให้ได้ตามข้อกำหนด ถึงจะสามารถให้ลูกจ้างทำงานได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :

Noisy machinery เครื่องจักรเสียงดังแก้ปัญหาไม่จบ รู้ก่อนหยุดเสียงหยุดขาดทุน

Acoustic Control การใช้ไม้อัดกันเสียงและดูดซับเสียง

เครื่องจักรเสียงดัง อันตรายแค่ไหน ป้องกันอย่างไร

Hearing loss แก้ปัญหาเครื่องจักรเสียงดัง ก่อนสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร ปัญหาเรื่องเสียงดังรบกวนของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักรที่มีเสียงดังนั้น นอกจากนายจ้าง ผู้ประกอบการ ต้องให้ความสำคัญแล้ว ตัวผู้ปฏิบัติงานเองต้องใส่ใจเรื่องนี้เช่นกัน เพราะส่งผลโดยตรงต่อสุขพลานามัยของตนเอง เรื่องของเสียงดังมีกฎหมายรองรับ ให้นายจ้างปฏิบัติตาม หลายครั้งที่เราจะเห็นข่าวการร้องเรียนของเพื่อนบ้านหรือระแวงใกล้เคียง กับปัญหาโรงงานเสียงดังต้องขึ้นศาล นอกจากเสียเงิน เสียเวลาแล้ว ยังเสียชื่อเสียง พนักงานก็เสี่ยงที่จะสูญเสียการได้ยินแบบถาวรในอนาคต ไม่มีเหตุผลข้อไหนเลยที่จะไม่แก้ปัญหาเรื่องเสียงดังซึ่งปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงโดยตรง มีวัสดุที่ถูกพัฒนามาเพื่อกันเสียงและดูดซับเสียงที่มีคุณภาพดีหลายยี่ห้อ โดยต้องวัดค่าเสียงในพื้นที่เพื่อออกแบบห้องเก็บเสียงที่ตรงตามความต้องการใช้งาน และแก้ปัญหาเครื่องจักรเสียงดังได้จบ ไม่ต้องมาปวดหัวเสียเวลาแก้งานหลายๆรอบ

Source :  สูญเสียการได้ยินแล้วจึงสมองเสื่อม : https://www.bumrungrad.com ,การสูญเสียการได้ยิน : https://noisecontrol365.com, https://www.nextplus.co.th/our-services#_soundproof