เลือกใช้กระจกกันเสียง ได้ทั้งงานดีไซน์และฟังก์ชั่น

อีกหนึ่งวัสดุที่ได้รับความนิยมทั้งในงานสถาปัตยกรรมต่างๆ งานตกแต่งภายในที่ใช้กระจกในการออกแบบ สร้างความสวยงามและโดดเด่นเป็นอย่างมาก ในงานสถาปัตยกรรมระดับโลก พีระมิดแก้ว พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (The Louvre Museum) ในกรุงปารีส หรือในประเทศไทย Apple Central World สาขาที่ 2 ของเมืองไทย ซึ่งมีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ด้วยโครงสร้างรูปทรงกระบอก บานกระจก 360 และที่ๆ ได้รับความนิยมสร้างกันมาก Glass House คาเฟ่ ร้านกาแฟจุดเช็คอินยอดนิยม บ้าน โชว์รูมต่างๆ ซึ่งการใช้กระจกนั้นนอกจากความสวยงามโดดเด่นของงานสถาปัตยกรรมแล้วจุดสำคัญที่เราอยากให้ทุกท่านให้ความสำคัญคือการเลือกกระจกกันเสียงให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพราะในหลายพื้นที่ต้องการจะได้ความโปร่ง โชว์งานออกแบบภายใน หากเกิดเสียงรบกวนก็จะทำให้กิจกรรมต่างๆ ไม่ราบรื่น ทำให้ลูกค้าไม่ประทับใจได้ ฉะนั้นเรามาดูกันว่า การเลือกใช้กระจกกันเสียง (Acoustic Glass) ได้ทั้งงานดีไซน์และฟังก์ชั่นลงตัวสมบูรณ์แบบ คืออะไร มีกี่ประเภท และมีคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสียอย่างไร

ภาพประกอบ : The Louvre Museum

กระจกกันเสียง (Acoustic Glass) คืออะไร…?

กระจกกันเสียง คือ กระจกที่มีคุณสมบัติในการป้องกันเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะนำกระจกประเภทใดมาทำก็จะต้องมีความหนารวมไม่น้อยกว่า 12 มม.(ในกรณีที่ใช้กระจกแบบสองชั้น จะต้องมีช่องว่างระหว่างกระจก 70 มม.ขึ้นไป) และควรมีค่า Sound Transmission Class หรือค่า STC ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ถ้าหากกระจกมีความหนามากกว่า 12 มม. ก็จะยิ่งมีค่า STC สูง ยิ่งค่า STC สูงมากเท่าใด ก็จะยิ่งป้องกันเสียงรบกวนได้มากขึ้นตามไปด้วย การนำกระจกกันเสียง (Acoustic Glass)​ ไปใช้ในงานสถาปัตยกรรม โดยส่วนใหญ่แล้วกระจกกันเสียงจะถูกนำไปติดตั้งเป็นผนัง ประตู หรือ หน้าต่าง เป็นหลัก การนำกระจกกันเสียงไปใช้งาน ค่า STC จะต้องมีความสัมพันธ์เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่การใช้งานแบบต่างๆ อยากเข้าใจว่าค่า Sound Transmission Class หรือค่า STC คืออะไรนั้นสามารถอ่านบทความที่เราแชร์ในครั้งก่อนได้ที่  ค่า STC (Sound Transmission Class) คืออะไร

ภาพประกอบ : Apple Central World

ส่วนประกอบของกระจกกันเสียง (Acoustic Glass Raw Material) 

ในการทำกระจกกันเสียงนั้น ประเภทกระจกที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบมีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้

  1. กระจกชั้นเดียว (Single Glazing) คือ กระจกที่มี Layer เดียวแบบเพียวๆไม่ว่าจะเป็นกระจกใส หรือ กระจกนิรภัยเทมเปอร์ฯลฯ
  2. กระจกลามิเนต (Laminated Glass) คือ การนำกระจก 2 แผ่นขึ้นไป มาประกบกันแบบสนิท โดยมีชั้นฟิล์ม PVB (Polyvinyl Butyral) ,EVA (Ethylene-vinyl acetate) หรือ SentryGlas ขั้นกลางระหว่างกระจกทั้งสองแผ่น ซึ่งฟิล์มจะช่วยยึดเกาะแผ่นกระจกไม่ให้ร่วงหล่นเวลาแตก
  3. กระจกสองชั้น (Double Glazing) คือ การนำกระจก 2 แผ่น (จะใช้กระจกชั้นเดียว หรือ กระจกลามิเนต ก็ได้) มาประกบกันโดยเว้นช่องว่างระหว่างกระจกไว้

ประเภทของกระจกกันเสียง (Acoustic Glass) มี 4 ประเภท ดังนี้

  1. กระจกชั้นเดียว (Single Glazing) กระจกประเภทนี้ยิ่งมีความหนามาก ยิ่งป้องกันเสียงได้ดี ส่วนใหญ่ใช้เป็นกระจกสำหรับประกอบทำกระจกกันเสียง ไม่นิยมนำไปติดตั้งแบบเดี่ยวๆ เนื่องจากกระจกชั้นเดียวเวลาแตกจะร่วงหล่น และมีความแหลมคนเป็นอันตราย
  2. กระจกลามิเนต (Laminated Glass) เป็นกระจกที่นิยมใช้กันค่อนข้างมากเพราะให้ความปลอดภัยสูง เวลากระจกแตกชั้นฟิล์มที่อยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้งสองแผ่นจะยึดเกาะแผ่นกระจกเอาไว้ไม่ให้ร่วงหล่นลงมา กระจกลามิเนตถ้าหากมีความหนาใกล้เคียงกับกระจกชั้นเดียว กระจกลามิเนตจะกันเสียงได้ดีกว่า เช่น กระจกลามิเนต 6 + 0.38 + 6 มม. (กระจก+ชั้นฟิล์ม+กระจก) = ความหนารวม 12.38 มม. จะหนา และกันเสียงได้ดีกว่ากระจกชั้นเดียว 12 มม. และจะมีค่า STC ที่สูงกว่า
  3. กระจกสองชั้น (Double Glazing) กระจก 2 ชั้นที่จะกันเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีช่องว่างตรงกลางระหว่างกระจกไม่น้อยกว่า 70 มม. (7 ซม.) ถึงจะได้ค่า STC ที่สูงขึ้น
  4. กระจกสองชั้น แบบผสมผสาน (Double Glazing Mix & Match) ลักษณะจะคล้ายกับข้อ 3 แต่จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงที่เพิ่มขึ้น โดยแผ่นกระจกจะเปลี่ยนจากกระจกชั้นเดียว เป็นกระจกลามิเนตแทนในส่วนที่เป็นผนังด้านใน หรือ ด้านที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้งาน เพราะเวลากระจกแตกจะให้ความปลอดภัยโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานจึงกลายเป็นกระจกกันเสียงอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้งาน แต่ค่อนข้างราคาสูง

ข้อดีและข้อเสียของกระจกกันเสียง (Acoustic Glass)​

ข้อดี

  • มีความแข็งแรง ทนต่อการบุกรุก หรือ โจรกรรม มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
  • สามารถทำความสะอาดได้ง่าย
  • ช่วยลดรังสียูวี และป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสีย

  • มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เพราะหนากว่ากระจกทั่วไป
  • ขนาดของกรอบเฟรม มีขนาดที่กว้างขึ้นกว่ากระจกทั่วไป

อ้างอิงจาก : www.wazzadu.com , Allard Double Glazing Blog, http://www.zen-acoustic.com

ภาพประกอบ : The Louvre Museum (Photo via @cavasottiphoto Instagram)

การนำกระจกกันเสียง (Acoustic Glass)​ ไปใช้ในงานสถาปัตยกรรมสามารถเพิ่มความสวยงามให้กับกระจกด้วยการนำกระจกไปทำลวดลายเป็นรูปกราฟิกต่างๆ หรือพิมพ์เป็นรูปภาพได้ตามต้องการ พิมพ์ลวดลายลงบนกระจกโฟลต หรือกระจกเทมเปอร์ ก่อนนำไปทำเป็นกระจกลามิเนต หรือกระจกอินซูเลท การเลือกกระจกกันเสียง (Acoustic Glass) ที่เหมาะสมเติมเต็มงานดีไซน์ที่สมบูรณ์แบบ ถือเป็นวัสดุที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  และที่สำคัญต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงเพื่อวัดค่า เสียงในพื้นที่และเลือกใช้กระจกที่มีค่า STC ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะในแต่ละพื้นที่นั้นมีค่าเสียง และลักษณะการใช้งานพื้นที่คนละวัตถุประสงค์ และนอกจากจะทำให้กันเสียงรบกวนได้แล้ว ยังสามารถให้คำปรึกษาในหลายมิติได้ ไม่ต้องเสียเวลาและเสียงบประมาณแบบบานปลายอีกด้วย