Rapid Antigen Test ตรวจยังไง ผลตรวจเชื่อถือได้แค่ไหน ?

เพื่อการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงต้องเรียนรู้ว่า Rapid Antigen Test Kit ใช้งานอย่างไร เมื่อไรที่จะพบเชื้อ ยี่ห้อไหนที่ อย.รับรอง และอ่านผลอย่างไรให้ถูกต้อง การเรียนรู้วิธีการตรวจเป็นเรื่องสำคัญมากในสถานการณ์โควิดในประเทศไทย เพราะล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงมากขึ้นทุกวัน ฉะนั้นการรอคอยเพื่อเข้าไปตรวจนั้นอาจจะใช้เวลานานและทำให้มีโอกาศเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น การตรวจแบบ Rapid Antigen Test Kit ก็เป็นการคัดกรองที่เราสามารถตรวจได้เองที่บ้าน ที่มีวิธีที่ง่าย แต่จะมีผลที่แน่นอนไหมนั้น มาศึกษาและทำความเข้าไปไปพร้อมกันค่ะ

Rapid Antigen Test คือการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ โดยหาส่วนประกอบของเชื้อไวรัสที่มีอยู่ภายในโพรงจมูกหรือลำคอ ซึ่งการตรวจแบบนี้ใช้ได้กับทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้วและผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เป็นการตรวจที่ทราบผลอย่างรวดเร็วได้ด้วยตัวเอง มีความต่างจากการเจาะเลือดหา Antibody ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากภูมิของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาแล้วได้ การตรวจโดยใช้ชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็วนี้ จะตรวจพบเชื้อไวรัส หลังจากรับเชื้อมาประมาณ 3-5 วัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่แสดงอาการหรือไม่แสดงอาการ (ดีที่สุดในช่วง 5-14 วัน จากนับจากวันรับเชื้อ) หากพ้นระยะ 14 วันและหายป่วยแล้วก็จะไม่สามารถตรวจหาเชื้อเจอ

ภาพประกอบ :บ้านและสวน

วิธีตรวจโควิด Rapid Antigen Test ด้วยตัวเอง

  • ก่อนอื่นเตรียมพื้นที่ซึ่งไม่มีการปนเปื้อน ล้างมือให้สะอาด หากมีน้ำมูกควรเคลียร์จมูกก่อน
  • ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดตรวจ แกะบรรจุภัณฑ์ออก โดยปกติชุดตรวจจะประกอบด้วย ก้านสำลีสำหรับ Swab หลอดใส่น้ำยาตัวอย่าง ฝาหยด ตลับทดสอบ และเอกสารกำกับ ทำการอ่านเอกสารกำกับอย่างถี่ถ้วน แต่ละยี่ห้ออาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน
  • ฉีกซองที่บรรจุก้านสำลีออก ระวังอย่าให้มือไปสัมผัสตรงสำลีที่ต้องใช้เก็บตัวอย่าง และส่วนก้านบางส่วนที่จะต้องจุ่มลงในหลอดน้ำยา
  • จับก้านสำลีให้ถนัด ทำการ swab หรือกวาดแยงจมูก โดยเงยหน้าเล็กน้อย แยงเข้าไปอย่างช้าๆ ในแนวนอนตามโพรงจมูกด้านใน ความลึกดูตามใบกำกับที่แนบมากับชุดตรวจ ระวังอย่าแหย่แรงจนเกิดบาดแผล และหมุนตามจำนวนรอบที่แนะนำในเอกสารกำกับ (5 รอบ โดยประมาณ) ทำเช่นนี้ทั้งจมูกข้างซ้ายและขวา
  • เปิดฝาหลอดใส่น้ำยาตัวอย่าง จุ่มสำลีลงไปในน้ำยา แกว่งวนตามจำนวนรอบที่แนะนำในเอกสารกำกับ (5 รอบ โดยประมาณ) และบีบก้นหลอดเบาๆ เพื่อให้น้ำยารับกับสารที่เราทดสอบได้ดีขึ้น นำก้านสำลีออก
  • นำฝาหยดมาปิดหลอดใส่น้ำยาอย่างระมัดระวัง
  • หยดน้ำยาลงบนตลับทดสอบ จำนวนตามเอกสารที่กำกับ (3 หยด โดยประมาณ)
  • วางตลับทดสอบในแนวนอน สังเกตุผลตามเวลาที่แนะนำ โดยทั่วไปจะใช้เวลา 15-30 นาที
ภาพประกอบ :บ้านและสวน

การอ่านผลตรวจด้วยตัวเอง

  • แถบ C คือแถบควบคุมที่ตรวจสอบว่าชุดทดสอบนี้ใช้งานได้หรือไม่ ส่วนแถบ T ทดสอบเชื้อ
  • มีแถบขึ้นทั้ง 2 แถบ ทั้ง C และ T หมายถึง พบเชื้อ
  • มีแถบขึ้น 1 แถบที่ตัว C หมายถึง ไม่พบเชื้อ
  • มีแถบขึ้น 1 แถบที่ตัว T หมายถึง ชุดตรวจนี้มีปัญหาใช้งานไม่ได้
  • ไม่แถบขึ้นเลย หมายถึง ชุดตรวจนี้มีปัญหาใช้งานไม่ได้

*หากมีแถบขึ้นทั้ง 2 แถบทั้ง C และ T แต่สีไม่เท่ากัน ก็หมายถึง พบเชื้อ แต่อาจมีสีต่างกันบ้างตามวิธีการจัดเก็บ

* ตรวจสอบชุดตรวจที่ อย. รับรองได้ที่ https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx

สำหรับ ‘ผลลบ’ จะแปลผลได้ 2 แบบ คือไม่ติดเชื้อ หรือติดเชื้อแต่เชื้อยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะตรวจพบด้วยชุดตรวจรวดเร็ว หากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีประวัติเสี่ยงควรกักตัวเอง และตรวจซ้ำอีก 5-7 วัน หรือเมื่อมีอาการทางเดินหายใจ แต่ถ้ามีอาการตั้งแต่แรกควรตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ปัจจุบันในประเทศไทยมี Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ทั้งหมด 24 ผลิตภัณฑ์ แต่ในอนาคตน่าจะมีการขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยบุคคลทั่วไป (Home Use) อย่างในอังกฤษที่สามารถซื้อชุดตรวจรวดเร็วมาใช้เองที่บ้านได้

Rapid Antigen Test ตรวจยังไง ผลตรวจเชื่อถือได้แค่ไหน ? อย่างไรก็ตามเมื่อพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวเองทันที ติดต่อโรงพยาบาลตามขั้นตอนซึ่งปัจจุบันอาจต้องมีการรอเตียง และทำการทดสอบแบบ RT-PCR อีกครั้ง โดยปัจจุบันมีการแยกกักตัวแบบ Home Isolation และ Community Isolation หรือกักรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชนในผู้ป่วยรายซึ่งไม่แสดงอาการและไม่ใช่ผู้ป่วยหนัก เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อที่มีมากขึ้น สามารถอ่านเรื่อง Home Isolation รู้ยัง! ติดโควิด ไม่มีอาการ/มีอาการน้อย แยกรักษาตัวที่บ้านได้ ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรง

วิธีคลายเครียดจากสถานการณ์โควิด อ่านเพิ่มเติมได้ที่

Data&Photo : https://www.baanlaesuan.com/240799/ideas/house-ideas/rapid-antigen-test-kit   , https://thestandard.co/get-to-know-the-rapid-test-kits/
ข้อเสนอการใช้ Rapid Antigen Test สำหรับสถานการณ์ที่มีการติดเชื้อในชุมชนวงกว้าง กระทรวงสาธารณสุข (8 กรกฎาคม 2564) Regular rapid lateral flow coronavirus (COVID-19) tests   Antigen Rapid Test (ART) Self-Test Kits