Flood house ฝนตกหนัก ไม่ต้องกลัวน้ำท่วมบ้านอีกต่อไป

ช่วงนี้ฝนตกหนักในทุกพื้นที่ ยิ่งคนในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝนตกคืนเดียวรู้เรื่อง เช้าออกมาทำงานต้องหาซื้อเรือคนละลำสองลำ ตอนฝนตกน้ำท่วมถนน เดินทางไปไหนมาไหนว่าลำบากแล้ว ยังมิวาย มีน้ำท่วมขังรอระบายบนถนน พร้อมที่จะไหลย้อนเข้ามาในบ้าน  ของพังเสียหาย ปวดหัวกันทุกฤดูฝน แล้วจะแก้ไขปัญหานี้ยังไงดี เรามีเทคนิคมาฝากกันรับปัญหาหน้าฝน พร้อมกับวิธีการดูแลบ้านหลังจากน้ำท่วม รวมไปถึงไอเดียการสร้างบ้านหนีน้ำท่วมมาติดตามกัน Flood house ฝนตกหนัก ไม่ต้องกลัวน้ำท่วมบ้านอีกต่อไป

ไอเดียสำหรับบ้านโครงสร้างเหล็กหนีน้ำท่วม

  • ยืมภูมิปัญญาไทยอย่างการยกใต้ถุนบ้านมาประยุกต์ใช้กับบ้านสมัยใหม่โดยยกตัวบ้านให้อยู่เหนือระดับน้ำที่เคยท่วมสูงสุดและให้ดูความเหมาะสมกับสัดส่วนของตัวบ้าน อีกทั้งยังสามารถมีพื้นที่ใช้สอยบริเวณใต้ถุนบ้านได้อีกด้วย
  • โครงสร้างฐานรากใช้แบบตอม่อและควรหล่อตอม่อยกตัวโครงสร้างเหล็กให้อยู่สูงจากระดับพื้นดิน เพื่อป้องกันความชื้นจากดิน
  • เลือกใช้โครงสร้างเหล็กเนื่องจากมีน้ำหนักเบาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะทำให้อาคารได้รับความเสียหายน้อยกว่าโครงสร้างที่มีน้ำหนักมาก เช่น พวกโครงสร้างคอนกรีต อีกทั้งโครงสร้างคอนกรีตยังมีความเปราะ หากเกิดการสั่นไหวจะทำให้มีการแตกร้าวและพังลงมาได้ง่ายกว่าโครงสร้างเหล็ก
  • เลือกทำโครงสร้างบ้านจากโครงเหล็กกล้าและเคลือบป้องกันสนิมเพื่อให้ใช้งานได้ในระยะยาว
  • รอยเชื่อมและข้อต่อระหว่างเสากับคานควรมีการถ่ายเทน้ำหนักได้ดีโดยใช้รอยต่อแบบขันสลักเกลียวเพื่อความแข็งแรงและรวดเร็วในการก่อสร้าง
  • งานอาคารหากต้องการความรวดเร็วในการก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างที่มีน้ำหนักเบาแนะนำเป็นผนัง Smart board ที่มีความยืดหยุ่น ทนความชื้นและแข็งแรง
Photo :  บ้านและสวน โดย มนธีรา มนกลาง

วิธีป้องกันน้ำท่วมบ้าน

ถ้าเป็นบ้านสร้างใหม่คงแก้ไม่ยาก โดยให้เริ่มเตรียมการณ์ตั้งแต่แรก ยกพื้นบ้านรวมไปถึงพื้นที่โดยรอบบ้านให้สูงกว่าถนนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ถ้าเป็นบ้านเก่านี่สิเรื่องใหญ่เลยเพราะจะไปยกบ้านได้อย่างไรกัน การดีดบ้านไม่ใช่เรื่องง่ายนักถึงแม้ว่าตอนนี้มีบริษัทรับทำเรื่องนี้หลายเจ้า แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและมีความเสี่ยงมากที่บ้านอาจเสียหายตอนดีด เพราะตอนนี้บ้านส่วนใหญ่ไม่ใช่บ้านไม้เหมือนสมัยก่อนที่ยกง่ายกว่าบ้านปูน การดีดบ้านจึงเป็นเรื่องยุ่งยากจนไม่อยากแนะนำให้ทำ วิธีป้องกันน้ำท่วม ถ้าไม่ดีดบ้าน วิธีป้องกันไม่ให้น้ำเข้าบ้านคือ การทำเขื่อนกันน้ำรอบที่ดิน โดยสิ่งแรกที่ต้องตัดสินใจก่อนดำเนินการคือจะป้องกันน้ำที่ระดับความสูงจากถนนเท่าไร ยิ่งต้องการป้องกันน้ำท่วมสูงมากเท่าไร ค่าก่อสร้างจะแพงขึ้นเท่านั้น หลังจากตัดสินใจได้แล้วจึงเริ่มทำเขื่อนรอบบ้านซึ่งต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเท่านั้น ผนังก่ออิฐและผนังก่อบล็อกกั้นน้ำไม่ได้ ถ้ามีรั้วเดิมอยู่ต้องก่อผนังคอนกรีตเสริมเหล็กซ้อนเข้าไป แนวป้องกันนี้ต้องทำครบวงรอบขอบเขตของบ้านหรือรอบพื้นที่ที่ต้องการป้องกันน้ำท่วม หลังจากนั้นจึงให้ทำทางเข้าออกจากถนนภายในบ้านกับถนนสาธารณะภายนอก โดยทำเป็นทางลาดหลังเต่า คือเป็นเนินขึ้นจากถนนด้านนอกแล้วค่อยลาดลงสู่ระดับถนนภายใน โดยให้ความสูงของหลังเต่าอยู่ที่ระดับป้องกันน้ำท่วม วิธีนี้จะทำให้เข้าออกจากบ้านได้ทั้งเวลาปกติและช่วงที่มีน้ำท่วมขังที่ถนนด้านนอก

นอกจากนี้ ให้ติดตั้งวาล์วปิดเปิดที่ปลายท่อระบายน้ำของบ้านที่ต่อกับท่อสาธารณะเพื่อปิดปากท่อน้ำจะได้ไม่ไหลย้อนเข้ามาในบ้านตอนที่มีน้ำท่วมขัง สุดท้ายคือต้องมีสถานีสูบน้ำออกจากบ้าน เพราะถึงแม้ว่าเราสามารถป้องกันไม่ให้น้ำท่วมถนนไหลเข้าบ้านโดยสร้างเขื่อน ทำหลังเต่า มีวาล์วปิดทางน้ำเข้าแล้ว แต่น้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่บ้านและน้ำจากท่อระบายน้ำของบ้านไม่สามารถระบายได้ด้วยวิธีปกติ เพราะเส้นทางน้ำถูกปิดไปแล้ว จึงต้องสูบน้ำพวกนี้ออกไปนอกบ้านวิธีสร้างบ่อที่ปลายท่อระบายน้ำจุดที่ก่อนน้ำไหลออกจากบ้านที่มีขนาดใหญ่และลึกพอที่จะใส่เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มที่เปิดปิดอัตโนมัติ ปั๊มน้ำประเภทนี้จะทำงานได้เมื่อมีระดับน้ำท่วมตัวเครื่องที่สูงถึงระดับหนึ่ง ดังนั้นก่อนทำบ่อต้องถามคนขายว่าเครื่องต้องการระดับน้ำเท่าไรจึงจะทำงานจากนั้นให้ทำบ่อให้ลึกกว่าที่กำหนด ติดตั้งปั๊มน้ำและต่อท่อเพื่อส่งน้ำออกจากบ้านในจุดที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้านที่อยู่รอบ ๆ วิธีจัดการเมื่อฝนตกหนักและเริ่มมีน้ำท่วมถนน ให้ปิดวาล์วน้ำที่ปลายท่อระบายน้ำ น้ำที่ท่วมถนนจะไม่ไหลเข้าบ้าน แต่เมื่อน้ำฝนและน้ำใช้ของบ้านไหลจากท่อระบายน้ำเข้าบ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำจะทำงานอย่างอัตโนมัติเพื่อสูบน้ำออกจนระดับน้ำต่ำถึงจุดที่กำหนดเครื่องก็จะหยุดทำงาน วิธีนี้จะช่วยให้ภายในบ้านแห้ง แม้ว่าจะมีน้ำท่วมที่ถนนหน้าบ้านและพื้นบ้านของเราต่ำกว่าถนนก็ตาม

วิธีดูแลรักษาเมื่อน้ำท่วมบ้าน

ความเสียหายจากน้ำท่วมบ้านหลังจากน้ำลด เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องจัดการ ทั้งการซ่อมแซม การวางแผนป้องกัน การดูแลรักษา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมบ้านอีก มีสิ่งที่ต้องทำหลังจากน้ำท่วมบ้าน เริ่มต้นด้วยการตรวจเช็คภาพรวมรอบบ้าน มีจุดไหนเสียหาย สำคัญโครงสร้างบ้านมีความผิดปกติไหม ไม่มั่นใจสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสำรวจจะได้แก้ไขอย่างถูกต้อง

  • ตรวจเช็คระบบไฟฟ้าให้แน่ใจก่อนเปิดใช้งาน อันตรายที่มาพร้อมกับน้ำท่วมคือไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าดูด เพราะไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ต้องให้ช่างมาตรวจสอบ หรือหากพบว่าระบบไฟฟ้า เช่น เบรกเกอร์ยังเปิดใช้งานอยู่ ให้รีบปิดระบบไฟฟ้าทันทีด้วยความระมัดระวัง พร้อมกับใส่ถุงมือหรือผ้าแห้งเพื่อป้องกันไฟดูด อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วม หากไฟฟ้าไม่ลัดวงจร ก็อาจจะซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้
  • เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ห้ามนำไปตากแดด สำหรับประตูและของใช้ที่ทำจากไม้ที่ถูกน้ำท่วม อาจมีอาการบวม พอง ห้ามนำไปตากแดด เพราะจะทำให้รูปทรงโก่ง หรือยืดงอได้ ควรผึ่งลมในที่ร่มจนกว่าจะแห้งสนิท
  • ไม่ต้องรีบทาสีใหม่น้ำท่วมจะทิ้งรอยสกปรกและคราบต่าง ๆ รวมทั้งความชื้นไว้ อาจจะดูไม่สวยงาม แต่ก็ปล่อยทิ้งไว้แบบนั้นก่อน เพราะพื้นผนังที่สะสมความชื้นไว้ หากทาสีใหม่ทับทั้งที่ยังไม่แห้งสนิท ไม่นานก็จะหลุดร่อนออกมา ทำให้สิ้นเปลือง ควรทำความสะอาดแล้วปล่อยทิ้งไว้ 2-3 เดือน แล้วค่อยทาสีใหม่
  • ระวังฝ้าเพดานถล่ม หากบ้านถูกน้ำท่วมสูง อาจทำให้ผนังหรือฝ้าเพดานได้รับผลกระทบ ฝ้าเพดานส่วนใหญ่ทำจากแผ่นยิบซั่มที่อมน้ำ หากมีการอมน้ำทำให้น้ำหนักมากหรือแอ่นตัว อาจจะหลุดร่วงลงมาจนเกิดอันตรายได้ ควรสังเกตร่องรอยให้ดี
  • ระวังสัตว์มีพิษ หลังน้ำลดใหม่ ๆ การเข้าตรวจตราข้าวของเครื่องใช้ ซอกมุม จุดอับต่าง ๆ ในบ้าน ให้ระวังสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ มาหลบซุกซ่อนอยู่ หากไม่ระวังอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้
ภาพประกอบ :www.jorakay.co.th

Flood house ฝนตกหนัก ไม่ต้องกลัวน้ำท่วมบ้านอีกต่อไป ไม่ว่าจะท่วมเยอะ หรือท่วมน้อย ก็ส่งผลเสียต่อโครงสร้างบ้าน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านเช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องรีบทำการแก้ไข รวมถึงเลือกช่างที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการซ่อมสร้าง ช่วงนี้ฝนตกหนักของให้ทุกท่านดูแลสุขภาพ และป้องกันน้ำไม่ให้ไหลท่วมบ้านได้ทันท่วงที และสำหรับใครที่กำลังวางแผนในการสร้างบ้านอย่างลืมสำรวจพื้นที่ของคุณ ว่ามีปัญหาน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี จะได้วางแผนการออกแบบบ้านให้เหมาะสม และปลอดภัยในทุกฤดูกาล อ่านบทความเกี่ยวกับปัญหาในฤดูฝน Water leak ฝนตก น้ำรั่ว นี้บ้านหรือตู้ปลา ปัญหาอยู่ตรงไหนรู้ยัง

Source ดูแลบ้านหลังน้ำท่วม  https://www.baania.com/th/article/น้ำท่วมบ้าน
บ้านโรงสร้างเหล็ก :  https://www.baanlaesuan.com/63756/design/house-design-for-disaster
www.jorakay.co.th
Photo บ้านและสวน www.jorakay.co.th