Ceilling อยากได้ฝ้าเนี้ยบต้องไม่พลาด เทคนิคการเลือกฝ้าเพดาน เจาะลึกทุกรายละเอียด

ฝ้าเพดานถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่ออาคาร หรือ งานสถาปัตยกรรม ฝ้าเพดานถูกใช้ประโยชน์เพื่อปิดบังท่องานระบบ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่น่าดูใต้พื้นชั้นบนเหนือฝ้าเพดาน อีกทั้งยังช่วยป้องกันฝุ่น ป้องกันแมลง ช่วยรักษาสมดุลอุณหภูมิภายในห้องให้คงที่ และทำให้พื้นที่ภายในห้องนั้นๆดูเรียบร้อยสะอาดตา ซึ่งมีหลายๆวัสดุให้เลือกใช้ตามแต่ความต้องการ แล้วมีวิธีเลือกแบบไหนที่จะเหมาะสมกับการใช้งาน การคำนึงถึงวัสดุความคุ้มค่า การดูแลรักษาในระยะยาว Ceilling อยากได้ฝ้าเนี้ยบต้องไม่พลาด เทคนิคการเลือกฝ้าเพดาน เจาะลึกทุกรายละเอียด

Ceilling Type

ฝ้าเพดานฉาบเรียบ  ฝ้าเพดานประเภทนี้มักใช้ในงานที่ต้องการความเรียบเนียนกลมกลืนไปกับสไตล์การออกแบบจึงมักเป็นการติดตั้งแบบถาวรเป็นหลัก โดยวัสดุกรุฝ้านั้นจะนิยมใช้วัสดุแผ่นที่ทำจากยิปซั่ม และไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยจะยึดเข้ากับโครงเคร่าที่ติดตั้งไว้กับโครงหลังคาอีกที เช่น โครงคร่าวประเภท C-Line บริเวณรอยต่อของฝ้าเพดานแบบฉาบเรียบแต่ละแผ่น จะฉาบปิดรอยต่อด้วยปูนสำหรับฉาบปิดรอยต่อฝ้า แล้วปิดทับรอยต่อด้วยผ้าด้ายดิบ เมื่อเสร็จทั้งหมดแล้วทาสีทับก็จะมองเห็นแผ่นฝ้าเรียบเป็นผืนเดียวกันตลอดแนวโดยมองไม่เห็นรอยต่อ ฝ้าประเภทนี้จึงถูกเรียกว่า “ฝ้าฉาบเรียบ” ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันทั้งบ้านพักอาศัย ห้องพัก โรงแรม หรือสถานที่ต่างๆ ด้วยความเรียบเนียบ ดูเรียบร้อยและดูทันสมัยอยู่เสมอ ระบบฝ้าเพดานฉาบเรียบสามารถถูกออกแบบให้มีสเตป มีหลุม ซ่อนไฟ หรือลวดลายสวยงานได้อย่างอิสระ โดยทั่วไปจะประกอบด้วยแผ่นยิปซัมหนา 9 มม.และระบบโครงคร่าวเพื่อรับน้ำหนัก การเลือกวัสดุแผ่นฝ้ายิปซัมรุ่นต่างๆเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่ใช้งาน และต้องคำนึงถึงระบบโครงคร่าวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเพื่อรับน้ำหนักให้ฝ้าเพดานแข็งแรง ปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย

ฝ้าเพดานแขวน หรือ ฝ้าที-บาร์ เป็นฝ้าเพดานที่นิยมใช้กันค่อนข้างมากเพราะความสะดวก และราคาไม่แพงมากเมื่อเทียบกับฝ้าแบบอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถเปิดฝ้าขึ้นไปดูแล หรือ ซ่อมแซมงานระบบต่างๆ บนเพดานได้สะดวก ฝ้าเพดานชนิดนี้ เป็นฝ้าที่มีโครงเคร่าอลูมิเนียมคว่ำเป็นรูปตัว T และเป็นช่องตารางเท่าๆกันเพื่อว่างแผ่นฝ้ายิปซั่ม โดยยึดด้วยลวดโครงเคร่าเข้ากับโครงหลังคา สำหรับแผ่นยิปซั่มที่ใช้ในการปิดช่องจะมีขนาดมาตรฐานก็คือ 60 x 60 ซ.ม. การติดตั้งฝ้าเพดานประเภทนี้เหมาะกับห้องที่มีขนาดเล็ก แต่ถ้าหากนำไปใช้ในห้องที่มีขนาดใหญ่มากๆอาจเกิดการหย่อนตัวของลวดที่ใช้ยึด ซึ่งอาจทำให้ฝ้าเพดานภายในห้องมีลักษณะเป็นคลื่นได้ นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานภายในห้องต่างๆในอาคารสูงๆ เพราะถ้าหากว่ามีลมพัดแรงมากๆเข้ามาที่ใต้ฝ้า หรือ เวลาที่อาคารสูงมีการสั่นไหว (อาคารสูงหลายๆ แห่งจะถูกออกแบบให้สามารถสั่นไหวได้ 1 ฟุต) อาจจะทำให้ฝ้าหลุดลงมา หรือ ทำให้ลวดยึดหย่อนตัว จนเป็นช่องทำให้ฝุ่นผงตกลงมาที่พื้นห้อง ถ้าหากจะติดตั้งในพื้นที่ ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ หรือ ห้องครัว ควรจะใช้ฝ้าที-บาร์ แบบกันชื้น เพราะไม่เช่นนั้นถ้าหากใช้แบบธรรมดามันจะผุได้ง่าย และทำให้อายุการใช้งานจะสั้นลงมาก

ฝ้าเพดานตกแต่ง ใช้วัสดุเฉพาะมาทำเพื่อตกแต่งไปเลยในตัว เช่น ไม้แท้ ไม้อัด รวมถึงฝ้าแบบกระจก เน้นความสวยงามเป็นหลักและอาจจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษหลังติดตั้ง ยกตัวอย่างฝ้าไม้ ก็อาจจะต้องมีการเคลือบน้ำยาป้องกันปลวก หรือถ้าเป็นฝ้ากระจกจะต้องระวังในเรื่องของความแข็งแรงเพราะอาจจะแตกหรือตกลงมาได้ แผ่นฝ้าเพดานตกแต่ง นิยมใช้ในห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก หรือบริเวณชายคา เนื่องจากต้องพิถีพิถันในการออกแบบและติดตั้ง ทำให้อาจเป็นฝ้าเพดาน ราคาสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของวัสดุที่เลือกใช้

  • ฝ้าเพดานดูดซับเสียง หรือ ฝ้าอะคูสติก แต่เดิมฝ้าประเภทนี้ เป็นระบบฝ้าเพดานที่ผสมผสานระหว่างโครงเคร่าฝ้าแบบที-บาร์ โดยมีตัวเลือกของแผ่นฝ้า ที่เป็นแผ่นฝ้าประเภทที่สามารถป้องกันเสียงสะท้อนได้ อย่างเช่น Acoustic Board ที่มีพื้นผิวขรุขระ ซึ่งจะช่วยในการดูดซับเสียงไม่ให้สะท้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนิยมใช้ในห้องประชุมสัมนา ,ภายในอาคารสำนักงาน หรือ ห้องจัดเลี้ยง ห้องซ้อมดนตรี อื่นๆ ในปัจจุบันนอกจากระบบโครงเคร่าฝ้าแบบที-บาร์ แล้ว ได้มีการพัฒนาระบบโครงเคร่าฝ้าแบบฉาบเรียบที่สามารถใช้ผสมผสานกับแผ่นฝ้า Acoustic Board ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
  • ฝ้าเพดานโปร่ง หรือ ฝ้าระแนง ฝ้าประเภทนี้นิยมใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม หรือ เพื่อพรางท่องานระบบต่างๆใต้พื้นอาคาร นอกจากนี้ฝ้าโปร่งแบบระแนงยังช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวก และยังซ่อมแซมง่าย ส่วนใหญ่นิยมใช้กับอาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม ,ห้างสรรพสินค้า ,อาคารสำนักงาน ,สถานีรถไฟฟ้า ,สถานีขนส่ง ฯลฯ
  • ฝ้าเพดานติดตั้งพิเศษ ฝ้าประเภทนี้ เป็นฝ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความสวยงาม หรือ สร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างให้กับพื้นที่นั้นๆเช่น ล็อบบี้โรงแรม หรือ ภายในรีเทลช๊อป ที่ต้องการประสบการณ์ในการรับรู้ที่แปลกใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจ ลักษณะของฝ้าประเภทนี้จะมีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากฝ้าทั่วไป และอาจมีการผสมผสานในด้านการใช้วัสดุที่หลากหลายขึ้น เช่น กระจก ,อะคริลิค ,ผ้าใบ ,ผ้าตกแต่ง ,แผ่นอลูมิเนียม หรือ ไม้จริง เป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญในการติดตั้งมากกว่าฝ้าแบบทั่วไป

Ceilling Raw Material 

ฝ้าที่ทำจากวัสดุยิปซั่ม แผ่นฝ้ายิปซั่ม ผลิตมาจากผงแร่ยิปซั่มที่อัดปิดทับหน้าหลังด้วยกระดาษ จึงทำให้พื้นผิวมีความเรียบเนียน และอาจมีการเคลือบสารเคมีบางชนิดเพื่อให้มีคุณสมบัติการใช้งานที่ดีขึ้น  แผ่นยิปซั่มความหนาที่นิยมใช้ในท้องตลาด คือ  9 มม. 12 มม. และ 15 มม. ขนาดแผ่นกว้าง 1.20 ม. ยาว 2.40 ม. และมีหลายชนิดให้เลือกใช้ แผ่นฝ้ายิปซั่มสามารถแบ่งประเภทตามรูปแบบการใช้งานได้ดังนี้

  • แผ่นยิปซัมรุ่นมาตรฐาน สีขาว จะมีกระดาษปิดทับทั้งสองด้าน  ไว้ใช้ทำผนังและฝ้าเพดานทั่วๆไป
  • แผ่นยิปซัมทนความชื้น จะเห็นเป็นผิวสีเขียว เหมาะกับการใช้ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่นห้องน้ำ ห้องครัว ฝ้าเพดานภายนอกอาคาร
  • แผ่นยิปซัมทนไฟ  จะเห็นเป็นสีชมพู เหมาะกับการใช้งานในห้องที่มีความร้อนสูง (ทนเพลิงไหม้ได้ 3 ชั่วโมง โดยไม่ร่วงหล่น)  เหมาะสำหรับทำฝ้าเพดาน ที่ต้องการอัตราการป้องกันไฟสูง เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ช่องลิฟท์ทางหนีไฟ และผนังอาคารต่างๆ
  • แผ่นยิปซัมกันร้อนติดอลูมิเนียมฟอยล์   ซึ่งมีคุณสมบัติในการสะท้อนรังสีความร้อนได้สูงถึง 95% ติดไว้ด้านหลังของแผ่นยิปซั่ม ช่วยลดความร้อนภายในได้ดี นิยมติดตั้งบริเวณฝ้าของห้องใต้หลังคา
  • แผ่นยิปซั่มสำหรับดัดโค้ง มีความหนา 6มม ซึ่งสามารถดัดโค้งได้ดีในรัศมีที่แคบ โดยไม่ต้องใช้น้ำหรือเครื่องมือช่วย

คุณสมบัติเด่น น้ำหนักเบา  แผ่นยิปซั่มและโครงเคร่ามีน้ำหนักเบา เหมาะกับพื้นที่งานต่อเติมที่ไม่ต้องการให้อาคารรับน้ำหนักมากเกินไป แผ่นยิปซั่มแข็งแต่เปราะ  สามารถใช้คัตเตอร์ในการตัด เจาะได้ ติดตั้งง่าย และรวดเร็ว  ผิวเนียนเรียบ ไร้รอยต่อ  หาวัสดุ และช่างได้ง่าย ช่วยลดเสียง และความร้อนได้

คุณสมบัติด้อย เนื้อยิปซั่มมีโอกาสเปราะหักง่าย เมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ ไม่ค่อยทนความชื้น

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ แผ่นฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือ ที่นิยมเรียกว่าแผ่นฝ้าสมาร์ทบอร์ด ผลิตมาจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่ผสมเข้ากับเส้นใยเซลลูโลสชนิดพิเศษ ทรายซิลิก้า และน้ำ จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการอบไอน้ำที่อุณหภูมิ และแรงดันสูง เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ทนทานสูงขึ้น

คุณสมบัติเด่น น้ำหนักเบา และติดตั้งได้ง่าย ลดการนำความร้อนช่วยให้บ้านเย็น เนื่องจากมีค่าการนำความร้อนต่ำกว่ากระเบื้องแผ่นเรียบ จึงช่วยลดความร้อนจากโถงหลังคาเข้าสู่ภายในบ้านได้ดี ช่วยให้บ้านเย็น และประหยัดค่าไฟฟ้า ปลวกไม่กิน เพราะทำมาจากปูนซีเมนต์ และส่วนผสมชนิดพิเศษอื่นๆ มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ ช่วยประวิงเวลาในการหลบหนีได้ในระดับหนึ่ง มีความแข็งแรง ทนต่อแรงกระแทกสูงไม่แตกหักง่าย เนื้อเหนียวมีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดโค้งได้ดีในระดับหนึ่ง ทนน้ำ ทนฝน ทนความชื้น และทนแดด ได้นานนับสิบปีโดยไม่เปื่อยยุ่ย ใช้งานได้ทั้งภายใน และภายนอก

คุณสมบัติด้อย เห็นรอยต่อระหว่างแผ่นเป็นรอยท้องช้างชัดเจน เนื่องจากเป็นแผ่นแข็ง เวลาต่อกัน และฉาบอาจจะไม่เนียนเหมือนกับใช้ยิบซั่มบอร์ด พื้นผิวไม่ค่อยสวยงาม ทาสีไม่ค่อยเรียบเนียนทั้งๆที่ไม่ใช่รอยต่อ

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไม้จริง และไม้เทียม ไม้จริงเป็นวัสดุทำฝ้าที่นิยมมากในอดีต ด้วยความสวยงามเป็นธรรมชาติ แต่ปัจจุบันไม้มีราคาสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆจึงทำให้ค่าใช้จ่ายและการบำรุงรักษาฝ้าประเภทนี้แพงตามไปด้วยปัจจุบันผู้คนจึงหันมานิยมใช้ไม้เทียมอย่าง ไม้พลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite) กันมากขึ้น ในการนำมาทำเป็นฝ้าเพดานโปร่งแบบระแนง ซึ่งวัสดุทดแทนไม้จริง

  • ไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite) ไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต หรือ WPC คือวัสดุที่มีส่วนผสมของไม้ และพลาสติก มีทั้งหน้าตัดแบบกลวง และหน้าตัดแบบตัน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะโดดเด่น และโน้มเอียงไปทางไหนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไม้ และพลาสติกที่นำมาผสมกัน
  • สำหรับขนาดไม้ระแนง WPC สำหรับทำฝ้า (แบบกลวง)ที่นิยมในท้องตลาดนั้นมีหน้าตัดความกว้างตั้งแต่ 2-12เซนติเมตร และมีความยาวตั้งแต่ 1-3

คุณสมบัติเด่น ไม่มีมอด และแมลงรบกวน มีความแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักที่เบากว่าไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ขนาดความหนาเท่ากัน ทนทานต่อความชื้น (ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างไม้กับพลาสติกว่าอันไหนสัดส่วนมากน้อยกว่ากัน) มีสีภายในตัว ลดขั้นตอนในการทาสี ติดตั้งง่าย สามารถตัดแต่งได้เหมือนไม้จริง สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ไม่ลามไฟ และไม่ติดไฟ มีความเหนียวกว่าไม้เทียมประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยสามารถทำโครงสร้างรับน้ำหนักบางประเภทได้

คุณสมบัติด้อย เมื่อใช้งานไปนานๆหลายปี และโดนแดดจัดๆ สีจะซีดจางลง และอาจมีอาการเหี่ยว ไม่ค่อยเหมือนไม้จริงทั้งสีสัน และผิวสัมผัส ไม้พลาสติกคอมโพสิตหลายรุ่นไม่สามารถทาสีทับได้ ดังนั้นเมื่อเกิดรอยใหญ่และลึกจึงซ่อมแซมได้ยาก

การทาสีฝ้าเพดาน

สีเเต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติ ข้อดี ข้อเสียต่างกัน ซึ่งก่อนอื่นเลยให้เรานึกก่อนเลยว่า ฝ้าเพดานของเราอยู่บริเวณส่วนไหนของบ้าน ภายนอกหรือภายใน โดนเเดดโดนฝนหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นจุดสำคัญในเลือกผลิตภัณฑ์สีเช่นกัน โดยการเลือก สีทาฝ้าเพดาน ส่วนใหญ่เเล้ว หากเป็นบริเวณภายใน จะนิยมใช้ฟิล์มสีชนิดด้านพิเศษ เพราะว่า ฝ้าส่วนใหญ่เป็นฝ้ายิปซั่ม ซึ่งจะนำแผ่นยิปซั่มหลายๆแผ่นมาต่อกัน บริเวณที่เป็นรอยต่อก็จะใช้ วัสดุฉาบรอยต่อ ซึ่งตรงนี้ละ หากช่างฉาบไม่ระวัง จะทำให้เป็นคลื่นๆ ไม่สวยงาม เลยต้องพึ่งพาคุณสมบัติของสีเข้ามาช่วย ดังนั้นช่างส่วนใหญ่จึงนิยมใช้สีทาฝ้าชนิดฟิล์มสีด้านพิเศษ ซึ่งฟิล์มสีชนิดด้านพิเศษจะช่วยลดการสะท้อนของแสงทำให้ช่วยอำพรางความ เป็นคลื่นของฝ้าได้ อีกทั้งเวลาเราเปิดไฟบ้าน สีจะไม่สะท้อนเข้าตาเราได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากให้แอดมินแนะนำสีทาฝ้า ก็ควรเลือก สีทาฝ้าเพดานที่เป็นฟิล์มสีชนิดด้านพิเศษ

Ceilling อยากได้ฝ้าเนี้ยบต้องไม่พลาด เทคนิคการเลือกฝ้าเพดาน เจาะลึกทุกรายละเอียด จบทุกข้อสงสัยจะเลือกใช้งานแบบไหนให้เหมาะสมกับโครงการของคุณ ตั้งแต่ประเภทของฝ้าแต่ละแบบรวมไปถึงวัสดุ จุดเด่นจุดด้อย และจบด้วยการทาสี  ล้วนเป็นเรื่องที่เจ้าของโครงการที่กำลังจะทำ อาคารสำนักงาน โรงแรม ที่พักอาศัย บ้าน ต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้เลือกแบบที่ต้องการ การสื่อสารกับผู้รับเหมาหน้างานได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องมาแก้มารื้องานให้ปวดหัวในภายหลัง เพราะเรื่องฝ้าเพดาล ถือเป็นจุดสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

Data&Photo : https://www.wazzadu.com/article/3733 ,  https://2brospainting.com/ , www.usgboral.com