Brick building design การออกแบบอาคารอิฐ สถาปัตยกรรมเชื่อมโยงกาลเวลา

อากาศร้อนไม่ปราณีใครจริงๆ สำหรับช่วงปลายมีนาคม จังหวัดไหนจะเป็นแชมป์ ทะลุ 40 องศา กันบ้างต้องมาลุ้นกันในทุกปี ไม่ว่าจะอยู่ไหนก็หนีความร้อนไม่พ้นสักที วันนี้เรามีอาคารสถาปัตยกรรม ที่สวยและลดความร้อนสำหรับผู้อยู่อาศัยมาฝากกัน อาคารอิฐที่เน้นการดึงประโยชน์จากลมธรรมชาติมาใช้เพื่อลดความร้อนให้ได้มากที่สุด โดยออกแบบ และวางตำแหน่งช่องเปิดเพื่อให้ความร้อนลอยขึ้นสู่ที่สูงแล้วระบายออก ทำให้เกิดสภาวะน่าสบาย (Comfort Zone) ในทุกพื้นที่ของอาคาร  อิฐยังเป็นวัสดุที่เชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน เนื่องจากผู้คนต่างมีความผูกพัน และคุ้นชินกับการใช้อิฐเป็นส่วนประกอบในงานสถาปัตยกรรมประเภทต่าง ๆ มาแต่อดีต การใช้อิฐจึงเสมือนการสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงทางกาลเวลา การดีไซน์ และการเลือกวัสดุนั้นล้วนสำคัญ

AUA โรงเรียนสถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา อาคารอิฐที่เชื่อมโยงทางกาลเวลา

อาคารอิฐสูง 7 ชั้น ซึ่งใช้อิฐเป็นวัสดุหลักของอาคารกว่า 1.7 ล้านก้อน ทางเข้าหลักของอาคารออกแบบให้เป็นในลักษณะทรงโค้ง (Arch)  ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างที่สามารถแสดงศักยภาพในการรับแรงที่มาพร้อมกับความสวยงามของอิฐได้มากที่สุด ทีมสถาปนิกสร้างความโดดเด่นให้สถาปัตยกรรมด้วยการออกแบบรูปด้านอาคารทั้ง 4 ด้านให้ไม่ซ้ำกัน ทั้งรูปแบบของช่องเปิด และแพทเทิร์นการก่ออิฐ ทั้งนี้การใช้แพทเทิร์นของอิฐที่หลากหลายยังช่วยให้อาคารดูมีมิติเมื่อถูกกระทบจากแสงและเงาในช่วงเวลาต่างๆ แพทเทิร์นของอิฐทั้งภายในและภายนอกมีทั้งหมด 16 แบบ นอกจากเรื่องของความสวยงามแล้ว แต่แพทเทิร์นยังบ่งบอกว่าพื้นที่ที่ใช้แพทเทิร์นดังกล่าวเป็นพื้นที่ใช้งานส่วนใดได้จากภายนอก โถงขนาดใหญ่บริเวณชั้น 1 ที่ถูกส่งต่อมาจากประตูทรงโค้ง ซึ่งในอนาคตจะเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโถงเป็นพื้นที่ในลักษณะ open air ที่เย็นสบายตลอดทั้งวันด้วยการระบายอากาศผ่านช่องเปิดที่ถูกเว้นจังหวะอย่างสวยงามบริเวณผนังทั้งสองด้านของอาคาร ออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิรัส พัชรเศวต และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สยาณี วิโรจน์รัตน์

การใช้อิฐเป็นผนังทั้งภายนอกและภายใน นอกจากเหตุผลด้านความสวยงามและงบประมาณแล้ว ผนังอิฐยังทำหน้าที่เป็นผนังรับน้ำหนัก (Curtain Wall System) รับโหลดอาคารร่วมกับระบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) การที่สถาปนิกออกแบบผนังอิฐทั้งภายนอกและภายในโดยมีโครงสร้างเหล็กยึดเป็นแกนอยู่ภายใน จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างอาคาร (Air gap) เป็นฉนวนกันความร้อนจากธรรมชาติชั้นดีที่ช่วยให้พื้นที่ภายในเย็นสบายตลอดทั้งวัน การใช้วิธีการก่ออิฐในรูปแบบโมดูลาร์ที่สามารถนำมาประกอบต่อกันที่หน้างานได้เลย โดยเพิ่มความแข็งแรงด้วยปูนมอร์ตาร์ชนิดพิเศษเพื่อช่วยการยึดเกาะระหว่างก้อน และเพิ่มความแข็งแรง ด้วยวิธีดังกล่าวจึงทำให้อาคารสามารถสร้างได้เสร็จตามกำหนดการ อีกทั้งพื้นผิวอาคารยังดูเป็นระเบียบสะอาดตาด้วยการก่อเรียงกันของอิฐแต่ละก้อนที่ได้มาตรฐานตามที่สถาปนิกกำหนดไว้

สาเหตุของความร้อนที่เกิดขึ้นภายในอาคารมาจากภายนอกมากกว่าที่เกิดขึ้นภายในอาคาร การที่จะลดความร้อนรวมลงได้ก็จะต้องมาจากการป้องกันความร้อนที่ดีจากกรอบอาคาร ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถทำได้โดยการเลือกใช้วัสดุที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละพื้นที่ ก็จะสามารถช่วยลดความร้อนได้  คุณสมบัติของอิฐมอญเป็นวัสดุที่ยอมให้ความร้อนถ่ายเทเข้า-ออกได้ง่าย และยังดูดเก็บความร้อนไว้ในตัวเองเป็นเวลานานกว่าจะเย็นตัวลง จะสังเกตได้จากเมื่อใช้มือสัมผัสผนังภายในบ้านในตอนบ่ายที่ถูกแดดร้อนจัด ผนังจะร้อนมาก และยังคงร้อนอยู่จนถึงช่วงหัวค่ำแล้วจึงเย็นลงใกล้เคียงกับอากาศปกติ เนื่องจากอิฐมอญมีความจุความร้อนสูงทำให้สามารถกักเก็บความร้อนไว้ในเนื้อวัสดุได้มาก ก่อนที่จะค่อยๆถ่ายเทสู่ภายนอก

การออกแบบอาคารอิฐ สถาปัตยกรรมเชื่อมโยงกาลเวลา เห็นได้จากความสวยงาม เนียบในทุกมุมมองแล้ว อิฐที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบสุดคลาสสิค เทห์ ด้วยการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับช่องเปิดรับลม อาคารอิฐที่เน้นการดึงประโยชน์จากลมธรรมชาติมาใช้เพื่อลดความร้อน เป็นอาคารที่เหมาะสมกับสภาภูมิอากาศของประเทศไทยได้อย่างดี ความลงตัวเป็นเอกลักษณ์ ของงานสถาปัตยกรรมและเป็นที่จดจำสำหรับผู้คนที่พบเห็น การออกแบบและก่อสร้างที่ต้องมีการควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานนั้น จำเป็นต้องควบคุมด้วยสถาปนิกและวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ การควบคุมมาตรฐาน งบประมาณ และระยะเวลาในการก่อสร้างนั้นก็เป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งในทุกๆ โครงการนั้นเอง

Data : www.baanlaesuan.com , ienergyguru.com

Photo : www.baanlaesuan.com, โรงเรียนสถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา