Field hospital & Hospitel โรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล ต่างกันอย่างไร เหมาะกับผู้ป่วยแบบไหน

จากที่เราได้เคยนำเสนอในเรื่องของโควิด-19 การดูแลตัวเอง การแยกกักตัว สำหรับผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงสูงในหลายๆ เรื่องในช่วงที่ผ่านมา วันนี้แอดมินยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโควิดมาฝากกันในส่วนของโรงพยาบาลสนามและ Hospitel ต่างกันอย่างไร เหมาะกับผู้ป่วยแบบไหนเพื่อเป็นความรู้และเตรียมความพร้อม รวมไปถึงเทคนิคการป้องกัน การฆ่าเชื้อก่อนที่จะเข้าไปในที่พักอาศัย เพราะหลายท่านยังเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องออกไปทำงาน ทำธุระข้างนอก โดยที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อ แล้วนำมาแพร่ให้คนที่บ้านได้ การดูแลตัวเองและการรับข่าวสารอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ภาพประกอบ :www.kkh.go.th

โรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยโควิด-19

การจัดทำ camp quarantine หรือ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาจจัดตั้งขึ้นในบริเวณที่เป็นโรงพยาบาล หรือ สถานที่ที่ไม่ได้เป็น หน่วยงานด้านสาธารณสุขมาก่อน เช่น วัด โรงเรียน โรงยิม หรือ หอประชุมขนาดใหญ่ เป็นต้น ผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับ มอบหมาย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัด และ หน่วยงานอื่นๆ รวมถึงมีการกำหนดคณะทำงานที่ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องและ ภาคเอกชน แนวทางการรับผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 ในโรงพยาบาลสนาม ผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย หรือ ดีขึ้นหลังจากการรับรักษาไว้ใน โรงพยาบาลและมีอาการคงที่ เข้ารับบริการตามระบบการดูแล และเฝ้าสังเกตอาการในโรงพยาบาลสนาม ที่สำคัญการสื่อสารกับผู้ที่อยู่ใกล้เคียงในพื้นที่ให้เกิดความเข้าใจ การสื่อสารความเสี่ยง ให้ผู้ป่วย ญาติ รวมถึง ประชาชน ให้เข้าใจตั้งแต่ก่อนจัดตั้ง และ ในระหว่างการระบาด

“Hospitel” เหมาะกับผู้ป่วยแบบไหน?

Hospitel เหมาะสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการความสะดวกสบาย เป็นส่วนตัวมากกว่าโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง ปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามหลักเกณฑ์ การปรับใช้โรงแรม เป็น “Hospitel” จะต้องเป็นโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 30 ห้องขึ้นไป, เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 5-7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอดคงที่, ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช, ผู้ป่วยไม่มีไข้ กรณีมีโรคประจำตัว ต้องควบคุมอาการได้ดี, ต้องจัดยาให้พร้อม สำหรับให้ผู้ป่วยรับประทานด้วยตัวเองจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์ และโรงพยาบาลต้นทางต้องยินดีรับผู้ป่วยกลับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง

โดยมาตรฐานของ Hospitel คือ ทีมแพทย์จะดำเนินการตรวจและบันทึกอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านเทเลเมดิซีนหรือไลน์กลุ่ม, ทุก Hospitel จะต้องมีแพทย์ 1 คนประจำ มีพยาบาลอัตราส่วน 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล มีการตรวจคนไข้ผ่านเทเลเมดิซีน และแอพพลิเคชั่นไลน์ มีการเยี่ยมผู้ป่วยทุกวัน พร้อมทั้งมีเครื่องมือพื้นฐานต่างๆ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดระดับความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยทุกราย ต้องผ่านการตรวจคัดกรองจากโรงพยาบาลหลักก่อน ข้อกำหนดหลักๆ เช่น อายุไม่เกิน 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ไม่ใช่เด็ก ไม่ตั้งครรภ์ ไม่มีเอกซเรย์ที่เปลี่ยนแปลง จึงจะสามารถย้ายเข้ามาได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นก็จะย้ายไปยังโรงพยาบาลหลักได้ทันที

ภาพประกอบ :freepik

หยุดเชื้อโควิดแพร่คนในบ้าน ต้องปลอดภัยระดับไหน

การไม่ออกไปนอกบ้านเลยอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่จะออกไปแล้วมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่เอาเชื้อโรคกลับเข้าบ้าน มาการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโควิดเข้าสู่บ้านที่พักอาศัยทุกประเภทให้ได้มากที่สุด เพื่อให้บ้านหรือที่พักเป็นพื้นที่ปลอดภัย ปลอดเชื้อ ต้องทำอะไรบ้าง ทันทีหลังจากออกไปทำกิจกรรมหรือทำธุระนอกบ้าน เนื่องจากขณะอยู่นอกบ้านอาจสัมผัสเชื้อโรคโควิด-19 และนำเชื้อเข้ามาสู่ในบ้านหรือที่พักอาศัยโดยไม่รู้ตัว

  • ทำความสะอาดรถยนต์ทุกครั้งหลังใช้งาน โดยใช้น้ำผสมผงซักฟอกทั่วไปหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เช็ดทำความสะอาดที่ปิดเปิดประตูรถและห้องโดยสารภายในเช่น เบาะที่นั่ง พวงมาลัย ปุ่มเปิด-ปิดแอร์ วิทยุ เป็นต้น
  • เก็บรองเท้าไว้นอกบ้าน นอกห้อง
  • ถอดหน้ากากอนามัยใส่ถุงให้มิดชิด และทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดแยกเฉพาะ
  • เช็ดทำความสะอาดกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาข้อมือ แว่นตา กุญแจบ้าน กุญแจรถ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • ล้างมือฟอกสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของในบ้านหรือนั่งบนเก้าอี้ โซฟา ก่อนอาบน้ำ
  • ไม่สัมผัสสัตว์เลี้ยง หรือบุคคลในบ้าน ก่อนอาบน้ำ
  • แยกเสื้อผ้าที่ใส่ไปนอกบ้าน ออกจากเสื้อผ้าที่ใช้ใส่ในบ้าน ไม่ให้ปะปนกัน
  • อาบน้ำสระผมทันที
  • เมื่อรับประทานอาหารร่วมกันกับสมาชิกในบ้าน ให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัวตักอาหาร

Field hospital & Hospitel โรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล ต่างกันไหม เหมาะกับผู้ป่วยแบบไหน โรงพยาบาลสนาม (Field hospital) สถานที่สำหรับรับรองผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา เป็นการเตรียมความพร้อมของระบบบริการและควบคุมป้องกันการติดเชื้อในการดูแลผู้ป่วยที่มีจำนวนมากเกินขีดความสามารถที่โรงพยาบาลจะรับได้  โรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่พักรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วเท่านั้น ไม่มีการตรวจคัดกรองโรค การตรวจคัดกรองโรคจะต้องตรวจที่สถานพยาบาลทั่วไป และเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการหรือแสดงอาการน้อยที่ส่งตัวมาจากสถานพยาบาลทั่วไป ไม่สามารถขอเข้าพักเองได้ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ คำว่า Hospitel เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการเพียงเล็กน้อย แต่อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่ายที่เข้ารับการรักษา อาจจะเป็นหอพัก หรือโรงแรมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่สามารถจัดตั้งขึ้นมาเองโดยไม่มีการขออนุญาต จะต้องได้รับการตรวจสอบลงทะเบียนตามแนวทางของกรมการแพทย์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องเข้าระบบส่วนกลาง เพื่อรักษาตามขั้นตอน

Data & Photo : กลุ่มฉุกเฉินทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข https://ddc.moph.go.th/https://www.nxpo.or.th/th/7551/ , https://www.sanook.com/health/29685/ , www.kkh.go.th , https://www.ocean.co.th/