Rainy season รับมือหน้าฝน หมดปัญหาหน้างานก่อสร้าง
หลายวันที่ผ่านมาฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่น้ำรอระบายกันอย่างหนักหน่วง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ “ฤดูฝน” ประจำปี 2564 เริ่มกลางสัปดาห์ที่ 2 เดือนพฤษภาคม เข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2564 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 5 – 10 และจะมากกว่าปีที่แล้ว ฝนตกมากขึ้นแน่นอนปัญหาในงานก่อสร้างก็ตามมา ความชื่น น้ำขัง การทำงานในพื้นที่มีความยากลำบากยิ่งขึ้น และกลายเป็นกระแสข่าวแชร์ในโลกออนไลน์ หลายประเด็น กับปัญหาการทำงานก่อสร้างในช่วงฤดูฝน อะไรทำได้ ทำไม่ได้ แก้ปัญหาอย่างไรดี วันนี้แอดมินขอนำวิธีการรับมือปัญหาในไซต์งานก่อสร้างในช่วงฤดูฝนมาฝากกัน ให้เจ้าของโครงการได้คลายกังวล และทีมช่างได้นำไปปรับใช้
สภาพพื้นที่หน้างาน
หนี่งปัญหาหลักอย่าง ‘สภาพพื้นที่ทำงาน’ ไม่เอื้ออำนวยในช่วงฤดูฝน เพราะนอกจากจะติดปัญหาเรื่องของการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ล่าช้าแล้ว ยังต้องมีการประเมินเรื่องของหน้าดินและโครงสร้างใต้ดินจากวิศวกรและสถาปนิกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เสียเวลาในการทำงานเพิ่มเป็น 2 เท่าจากปกติ จะทำให้งานเดินช้าลง และยากลำบากมากยิ่งขึ้น ที่ต้องเน้นคือ เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะ เรื่องไฟฟ้า จะต้องติดตั้งแผงควบคุมในบริเวณที่ฝนสาดไม่ถึง และ ต้องไม่ใช้การวางสายไฟกับพื้นดิน แต่ต้องตั้งเสาสำหรับการเดินสายไฟ
วัสดุก่อสร้างต้องเก็บหนีฝน
ปัญหาของ ‘การจัดเก็บวัสดุ-อุปกรณ์’ ในช่วงหน้าฝน ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากเกิดเสียหายไปเท่ากับต้องเพิ่มงบประมาณทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น และสำหรับการจัดเก็บอุปกรณ์สามารถทำได้ง่ายๆ คือมั่นดูและรักษาอุปกรณ์สม่ำเสมอ ในกรณีอุปกรณ์ชิ้นใหญ่เช่น รถขุดดินควรจดไว้ในที่ร่มเพื่อลดการปะทะของฝนกับตัวเครื่อง จะยืดอายุการใช้งานได้ ส่วนอุปกรณ์ชิ้นเล็กอย่างเครื่องเจาะ เครื่องขุด ควรเก็บให้ห่างจากความชื้น สำหรับการจัดเก็บวัสดุในงานก่อสร้างนั้น สามารถแยกได้ 3 ประเภทหลัก
- ปูนซีเมนต์ ห้ามโดนน้ำโดยเด็ดขาด ควรทำโรงเรือนชั่วคราวยกพื้นสูงประมาณ 20 เซนติเมตร และใช้แผ่นพลาสติกหรือผ้าใบคลุมเอาไว้ หากปูนซีเมนต์โดนความชื้นจะจับตัวเป็นก้อนแข็ง ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะจะทำให้คอนกรีตที่ผสมจากปูนซีเมนต์ที่จับตัวเป็นก้อนแข็งแล้วนั้นไม่แข็งแรง
- เหล็กเส้นหรือเหล็กรูปพรรณ ก็ควรทำโรงเรือนชั่วคราว หรือยกพื้นสูงเพื่อจัดเก็บเช่นเดียวกันกับปูนซีเมนต์ เพราะหากเหล็กถูกความชื้นก็จะเกิดสนิม แต่เมื่อเกิดสนิมขึ้นแล้วหากต้องการนำเหล็กไปใช้งานควรขัดเอาเนื้อสนิมออกให้หมดไม่เช่นนั้นก็อาจจะทำให้เนื้อเหล็กมีโอกาสเป็นสนิมเพิ่มมากขึ้น
- หิน-ทราย ถึงแม้ว่าสามารถโดนน้ำฝนได้แต่ต้องระวังหินหรือทรายเปื้อนดิน เพราะหากหินหรือทรายเปื้อนดินก็ไม่ควรนำไปใช้ในการผสมคอนกรีตเช่นกัน ควรหาพลาสติกปูรองพื้นให้กับหินหรือทรายเหล่านั้นตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีการขนส่งเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้าง
ปัญหาเรื่องดิน
- การทำรากฐาน หรือ ถังเก็บน้ำใต้ดินต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น ถ้ามีรากฐานใหญ่ และอยู่ลึกจากผิวดินมากกว่า 50 เมตรขึ้นไป ควรประเมินการพังทลายของหลุมดินระหว่างการทำงาน เนื่องจากดินที่อุ้มน้ำมีโอกาสพังทลายได้ง่าย อาจเกิดอันตรายกับคนงาน ถ้าหลุมลึกมากกว่า 2 เมตร ควรทำระบบป้องกันการพังทลายของหลุม โดยใช้เสาเข็มไม้กดล้อมไว้ก่อนขุดดิน นอกจากนี้ควรขุดบ่อพักไว้ที่ก้นหลุมสำหรับการติดตั้งเครื่งสูบน้ำเมื่อเกิดฝนตก
- งานเดินระบบท่ออย่าให้น้ำไหลเข้าไปในท่อ ด้วยการหาพลาสติกหรือฝาครอบปิดไว้
- การเทคอนกรีตให้หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ฝนอาจจะตกหนัก แต่ถ้าอยู่ระหว่างการเทคอนกรีตและหยุดไม่ได้ ให้สูบน้ำจากบ่อพักที่เตรียมไว้ แล้วเทต่อเนื่องไปได้เลย เนื่องจากเนื้อคอนกรีตมีความหนาแน่นกว่าน้ำ คอนกรีตจะไหลแทนที่น้ำและดันนำให้ลอยขึ้นมาที่ผิวบน อย่างไรก็ตามก็ต้องสูบน้ำที่อยู่ภายนอกแบบอย่างต่อเนื่อง และอุดรอยรั่วให้น้อยที่สุด และเมื่อเทคอนเรีตเสร็จแล้ว ถ้าฝนตกอยู่ให้หาผ้าใบมาคลุมไว้
ปัญหาเรื่องสี
งานทาสีเป็นอีกงานที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะถึงแม้จะสามารถหาวันที่มีอากาศดีๆ ได้ในฤดูฝนได้ แต่การทาสีผนังอาคารควรต้องตรวจสอบสภาพของผนังอาคารว่าเปียก หรือมีความชื้นสะสมอยู่ภายในเนื้อวัสดุหรือไม่ เพราะอาจเกิดปัญหาสีโป่งพองและลอกล่อนได้จากความชื้นที่อยู่ในเนื้อวัสดุระเหยตัวออกมา
- สีน้ำพลาสติกต้องมีระยะเวลาแห้งไม่ต่ำกว่าครึ่งวันหลังจากทาเสร็จ ดังนั้นต้องดูวันที่แดดดี มั่นใจว่าวันนั้นฝนไม่ตก
- สีเคลือบเงาต้องทาในวันที่อากาศดี ความชื้นต่ำเท่านั้น แม้ฝนไม่ตกแต่อากาศครึ้มก็ไม่ควรทา เพราะงานออกมาไม่สวยและสีอาจลอกล่อนได้ในภายหลัง
- งานเคลือบสีไม้หรือเคลือบสีเหล็กก็เช่นเดียวกัน หากเป็นไม้ก็ต้องดูให้แน่ใจว่าเนื้อไม้แห้งสนิท หรือหากเป็นเหล็กก็ต้องตรวจ และขัดสนิมออกให้หมด ถึงจะสามารถเริ่มลงมือทาสีได้
งานก่อสร้างในช่วงฤดูฝน ต้องเคร่งครัด รอบคอบในทุกๆ ด้าน การก่อสร้างต้องเริ่มตั้งแต่ค่าจ้างคนงานทุกส่วน ค่าวัสดุอุปกรณ์ รวมไปถึงค่าพื้นที่ต่างๆ และยิ่งเป็นช่วงหน้าฝนผู้ว่าจ้างอาจต้องเตรียมงบประมาณสำรองเพื่อเอาไว้เป็นก้อนที่ 2 ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีปัญหาตามแน่นอน ทั้งในเรื่องของวัสดุและอุปกรณ์เสียหาย, การขนส่งวัสดุล่าช้า, การปรับหน้าดินอยู่ตลอดเวลา และปัจจัยสำหรับคือค่าแรงของคนงาน เพราะต้องยืดระยะเวลาการทำงานออกไปทำให้แผนงานก่อสร้างเดิมล่าช้า ควรเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน รวมถึงควรมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดปัญหา รวมถึงป้องกันความปลอดภัยที่จะขึ้นจากอุบัติเหตุ การเพิ่มความรอบคอบขึ้นย่อมสามารถรับมือปัญหาต่าง ๆ ทั้งการป้องกันและแก้ไขได้
Cr : https://homedeedee.com/ , http://www.clicks4home.com/ , https://www.thansettakij.com/